กายวิภาคของเข็มโครเชต์
ใช้เข็มโครเชต์กันมานาน รู้หรือเปล่าว่ากายวิภาคของเข็มโครเชต์เป็นยังไง ลักษณะรูปแบบเข็มที่ต่างกันช่วยงานถักเราให้ง่ายขึ้นดีขึ้นหรือเปล่า เข็มลักษณะแบบไหนน่าจะเหมาะกับเรา… ไปดูกันเลยดีกว่า
ส่วนกายวิภาคของเจ้าเข็มโครเชต์ มีอยู่ 5 ส่วน…
ด้ามจับ (handle) เป็นส่วนที่มือจับประครองเข็มตลอดการถัก เข็มโครเชต์โดยทั่วไปด้ามจับจะมีขนาดพอๆ กับก้านของเข็มโครเชต์ สำหรับนักถักโครเชต์ที่ถักกันอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมงต่อๆ กันอาจเกิดการปวดเมื่อยมือได้ เข็มโครเชต์บางรุ่นจึงได้ออกแบบด้ามจับให้เหมาะกับการจับ โดยให้ขนาดด้ามใหญ่ขึ้น ให้มีขนาดพอๆ กับด้ามปากกา
ที่วางนิ้วโป้ง (thumb rest) ชื่อเป็นที่วางนิ้วโป้ง แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอานิ้วโป้งมาวางตรงนี้กันจริงๆ หรอกนะคะ แต่ลองสังเกตเวลาเราถักดูสิค่ะ เราจะชอบเอานิ้วเรามาอยู่แถวๆ ส่วนนี้จริงๆ ด้วย เข็มโครเชต์หลายๆ รุ่น โดยเฉพาะที่เราเห็นๆ ขายกันทั่วๆ ไปในไทย ก็จะใช้ส่วนนี้เป็นส่วนพิมพ์ยี่ห้อ และขนาดเข็มโครเชต์ไว้
ก้าน (shaft) ส่วนนี้เป็นอีกส่วนที่สำคัญในการถักเลยทีเดียว ส่วนก้านนี้เองมีส่วนอย่างมากในการกำหนดขนาดโซ่ที่เราถัก โดยขนาดของเข็มโครเชต์ เช่น ที่บอกว่า เข็มเบอร์ 1 ขนาด 1.6มม. มันก็คือความหนาของส่วนปลายก้านก่อนเข็มจะเรียวตัวเข้าส่วนคอนี่แหละ ก้านเข็มก็มีหลายแบบนะ มีแบบก้านเข็มที่จะเรียวเล็กไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ส่วนด้ามจับถึงปลายก้าน กับส่วนที่ก้านค่อนข้างมีขนาดหนาเป็นทรงกระบอกสม่ำเสมอ ซึ่งแบบนี้เหมาะมากๆ กับคนที่มีปัญหาน้ำหนักมือในการถักการดึงไหมไม่สม่ำเสมอ
คอ (Throat) เป็นส่วนคล้ายตะขอ ไว้เกี่ยวไหม ตอนแรกๆ เราคิดว่าขนาดของเข็มโครเชต์ขึ้นอยู่กับขนาดตะขอ หรือคอนี่สะอีก แต่กลับเข้าใจผิด ลักษณะของคอก็มีส่วนต่างออกไปนิดหน่อย แบบที่คอยื่นออกจากแนวก้าน (Tapered crochet hook) แบบนี้คือ เข็มโครเชต์ของทิวลิปที่เราเห็นวางขายทั่วไปในไทย แน่นอนคอแบบนี้ทำให้เกี่ยวไหมได้ง่าย เข็มกับแบบที่คออยู่ในแนวก้าน (Inline crochet hook) แบบนี้ไม่ค่อยเห็นวางขายนัก ส่วนปลายคอจะแหลม แบบนี้จะให้รูปร่างโดยรวมของเข็มเป็นทรงกระบอกในแนวเดียวกัน เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาถักทีไรไหมแตกเป็นเส้นเล็กๆ ทุกที
ปลาย (point) คือส่วนปลายสุดของเข็มโครเชต์ ช่วยในการจิ้มนำร่องชิ้นงานเพื่อถักในหลักต่อไป เข็มบางรุ่นจะทำส่วนปลายไว้มนทู่ๆ เราชอบนะ ไม่เจ็บมือเวลาถัก แต่ถ้าทู่มาก แล้วเราถักแน่นมากๆ ก็จิ้มนำร่องในชิ้นงานยากเหมือนกันนะ
หวังว่าทุกคนคงสนุกกับการรู้จักกายวิภาพของเจ้าเข็มโคเชต์กันนะ อาจช่วยให้เราเข้าใจ และสรรหาเข็มโครเชต์คู่ใจงานถักของเราได้ง่ายขึ้นนะ